วันนี้สำหรับสายดื่มน่าจะถูกใจโพสต์ความรู้ของเราพอสมควร
เพราะเราจะนำบทความเกี่ยวกับ เบียร์สนหรือ Spruce beer มาแชร์ให้ผู้อ่านได้รับชมเนื้อหากัน ซึ่งหลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่า นอกจากไม้สนจะใช้ในการก่อสร้าง และทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว ยังนำมาทำเป็นเบียร์ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะของสนได้ด้วย
สำหรับต้นกำเนิดของ ”เบียร์สน” สามารถสืบย้อนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปได้ถึงในยุค แสกนดิเนเวียนโบราณ(Ancient Scandinavians)เลยทีเดียว ซึ่งริเริ่มการทำเบียร์จากต้นสนและสืบสานกันเรื่อยมาในบรรดาเชื้อสายของพวกเขาที่เรารู้จักกันดี คือ ชาวไวกิ้ง(Vikings)นั่นเอง ซึ่งชาวไวกิ้งจะนำยอดของต้นสนนอร์เวย์(Norway Spruce)มาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในการหมักเบียร์
ในปี 1536 Jacques Cartier นำสำรวจบริเวณอเมริกาเหนือ ได้ชิมชาของชาวอินเดียแดงพื้นเมืองที่มีส่วนผสมของเปลือกไม้หลายชนิด ที่คาดว่าเป็นสนขาว(white spruce: Picea glauca) ซึ่งช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟันของลูกเรือของเขาได้ หลังจากนั้น “เบียร์สน” ก็เริ่มแพร่หลายในอเมริกาเหนือ, อังกฤษ และฝรั่งเศษ จากสงคราม French & Indian War ในปี 1757 โดยใช้ยอดสนในการหมัก แม้แต่ Captain Cook เองในปี 1772-1775 ก็ได้มีการจดบันทึกถึงการหมักเบียร์จากยอดสนโดยบรรดาลูกเรือของเขาขณะที่เดินทางไปถึงนิวซีแลนด์เช่นกัน โดยมีการจดบันทึกด้วยว่า ลูกเรือของเขาแทบจะไม่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟันเลย
เบียร์สนยังถูกส่งผ่านมาจนถึงยุคล่าอาณานิคม ซึ่งทำให้วัตถุดิบหาได้ยากขึ้นในบางประเทศ เช่น ในอเมริกาศตวรรษที่19 บาร์เลย์และฮอปส์เริ่มขาดแคลน และทำให้เบียร์มีราคาแพงขึ้นเนื่องจากส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากอังกฤษ รวมทั้งคุณภาพเบียร์ที่ต่ำลง จึงเริ่มมีการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการหมักเบียร์แทน เช่น ใช้ข้าวโพดเป็นแหล่งน้ำตาลแทน และใช้ยอดสนแทนฮอปส์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดสูตรการหมักเบียร์ที่พัฒนาหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน “เบียร์สน” ยังคงได้รับความนิยมในบางกลุ่ม เช่น Yards Brewing Co. ที่ยังคงทำเบียร์สนอ้างอิงจากสูตร Ben Franklin’s recipe จากยุคล่าอาณานิคม และ Wigram Brewing Co. ในนิวซีแลนด์ที่ยังทำเบียร์สนอ้างอิงจากสูตรของ Captain Cook คอเบียร์สามารถหาเบียร์สนที่ผลิตโดยบริษัททั้งสองและอีกหลายๆบริษัทที่ยังผลิตอยู่มาลองชิมกันได้นะ
Comments